อยากรู้เรื่องสัตว์ คลิกเลยยย!!

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
เป็นคนสบายๆ,เข้ากับคนได้ง่าย

วันเสาร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

พืชอาหารสัตว์

พันธุ์พืชอาหารสัตว์พันธุ์พื้นเมืองมีอะไรบ้าง
พืชอาหารสัตว์ประเภทนี้ ส่วนใหญ่ขึ้นเองตามธรรมชาติ เกษตรกรไม่ได้ปลูกหรือบำรุงรักษา แต่จะไล่ต้อนสัตว์ไปแทะเล็มทั่วๆ ไป ตามที่เลี้ยงสัตว์สาธารณะชายป่า ริมถนนและคันนา เป็นต้น พันธุ์พืชอาหารสัตว์ที่เป็นประโยชน์ คือ
๑. หญ้าเพ็จ (Arundinaria pusilla) บางทีเรียกว่าไผ่เพ็จ เป็นหญ้าในกลุ่มไผ่อายุค้างปีหรือหลายปี กอตั้งชัน สูง ๖๐-๘๐ เซนติเมตร ลำต้นแข็ง ในช่วงต้นฤดูฝนใบอ่อนเป็นอาหารโคกระบือได้ดี เป็นหญ้าหลักของโคกระบือในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบขึ้นทั่วไปในดินร่วนปนทราย ในที่ดอนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและพบขึ้นเป็นพืชชั้นล่างในป่าโปร่ง ใบหญ้าที่เก็บในช่วงฤดูต้นฤดูฝน มีคุณค่าอาหารคิดเป็นร้อยละ ดังนี้ ความชื้น ๗.๙ เถ้า ๙.๑ โปรตีน ๑๐.๔ กาก ๒๖.๐ แป้ง ๔๔.๓ และไขมัน ๒.๕ ค่าการย่อยได้โดยคิดเป็นค่าอินทรียวัตถุที่ย่อยได้ร้อยละ ๕๑.๗
๒. หญ้าแฝกหรือหญ้ากลม (Themeda triandra) เป็นหญ้าอายุหลายปี กอสูง ๘๐-๑๑๐ เซนติเมตร ใบเล็กเรียวยาว เมื่อแก่มีดอกสีน้ำตาลแดง พบขึ้นเป็นทุ่งใหญ่ในเขตจังหวัดกาญจนบุรี ลพบุรี นอกจากนั้นพบประปรายเป็นหย่อมเล็กๆ ตามริมถนน ชายป่าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือแถบนครราชสีมา ชัยภูมิ เป็นพืชอาหารสัตว์คุณภาพปานกลาง โคกระบือชอบกิน ทางราชการทหารและกรมปศุสัตว์เคยใช้เป็นหญ้าหลักของโคกระบือ ก่อนที่จะนำหญ้าพันธุ์ดีเข้ามาทดแทนหญ้าในระยะมีดอกมีคุณค่าอาหารคิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๑๐.๐ โปรตีน ๔.๗ ไขมัน ๑.๒ กาก ๓๑.๑ แป้ง ๕๑.๘ และเถ้า ๐.๙
๓. หญ้าหนวดฤาษีหรือหญ้าหนวดเสือ (Heteropogon contortus) เป็นหญ้าอายุหลายปี กอสูง ๖๐-๗๐ เซนติเมตร ใบเรียวยาว ๑๕-๒๐ เซนติเมตร กว้าง ๐.๔-๐.๖ เซนติเมตร ช่อดอกมีขนแหลมเป็นเสี้ยนยาวสีดำ เมื่อแก่จัดขนเหล่านี้ จะพันกันเป็นกระจุก พบขึ้นในที่ดอน ขึ้นปนในป่าไม้เต็ง ขึ้นเป็นทุ่งใหญ่ในบางอำเภอของจังหวัดลำปาง ต่อลงไปจนถึงจังหวัดตาก และบางพื้นที่ในจังหวัดกาญจนบุรี นอกจากนั้นพบประปรายตามริมชายป่า ริมถนนในบางท้องที่ โคชอบกิน ชาวบ้านใกล้เคียงเผาทุ่งหญ้า และเมื่อฝนตกหญ้าแตกใบอ่อนเป็นอาหารโคกระบืออย่างดี คุณค่าอาหารเมื่อหญ้าอยู่ในระยะมีดอก คิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๑๓.๖ โปรตีน ๓.๕ ไขมัน ๑.๑ กาก ๓๔.๗ แป้ง ๔๐.๔ และเถ้า ๖.๖
๔. หญ้าพุ่งชู้ (Chrysopogon orientalis) ชาวบ้านเรียกว่า หญ้าเจ้าชูยักษ์ เป็นหญ้าอายุหลายปี กอสูงประมาณ ๘๐-๙๐ เซนติเมตร ลำต้นแข็ง ใบขึ้นเป็นกระจุกตรงผิวดิน ใบยาวประมาณ ๖-๘ เซนติเมตร เรียวเล็ก กว้างประมาณ ๐.๔ เซนติเมตร ระบบรากยาวแข็งแรง พบขึ้นเป็นทุ่งปกคลุมในดินชุดบ้านทอนและบาเจาะ ในจังหวัดนราธิวาสซึ่งเป็นดินเลว ความอุดมต่ำ บริเวณพื้นที่ริมทะเลและที่ดินทรายร่วนบางแห่งของจังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา ตลอดจนถึงฝั่งมาเลเซีย โคกระบือชอบกินหญ้าชนิดนี้ หญ้าพุ่งชู้เป็นหญ้าที่ทนการแทะเล็มเหยียบย่ำดีมากมีคุณค่าอาหารคิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๘.๕ โปรตีน ๔.๒ ไขมัน ๑.๔ กาก ๒๙.๘ เถ้า ๘.๒ และแป้ง ๔๗.๗
๕. หญ้าปากควาย (Dactyloctenium aegyptium) เป็นหญ้าฤดูเดียว แตกเถ้าเลื้อยบนผิวดิน ต้นอวบน้ำ สูงไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร ใบยาวประมาณ ๔-๕ เซนติเมตร กว้าง ๑-๑.๓ เซนติเมตร ช่อดอกเป็นแฉกๆ คล้ายตีนไก่ โตเร็ว ชอบดินร่วนปนทราย ขึ้นในที่ดอน พบเป็นวัชพืชในไร่มันสำปะหลังและอื่นๆ ติดเมล็ดมาก โตเร็วมีคุณค่าอาหารคิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๗.๗ โปรตีน ๘.๙ ไขมัน ๒.๒ กาก ๒๒.๔ แป้ง ๔๓.๙ และแร่ธาตุ ๑๔.๖
๖. หญ้าในกลุ่มหญ้าดอกรัก (Eragrostis spp.) มีหลายพันธุ์ทั้งอายุปีเดียว เช่น หญ้าหางกระรอก และอายุหลายปี เช่น หญ้าโกรก เป็นหญ้ากอเตี้ย สูง ๑๐-๒๐ เซนติเมตร ใบเล็ก ติดเมล็ดดีมาก พบขึ้นอยู่ทั่วไปในที่ดอนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อฝนเริ่มตกในช่วงต้นฤดูฝน หญ้าพวกนี้จะงอกและเติบโตเร็วมาก ทำให้โคกระบือได้อาหารรวดเร็วในช่วงดังกล่าว
๗. หญ้าขน (Brachiaria mutica) เป็นหญ้าอายุหลายปี มีเถาเลื้อย ลำต้นกลวง อวบน้ำใบขนาดกลาง ยาว ๕-๘ เซนติเมตร กว้าง ๐.๘-๑.๒ เซนติเมตร มีขนขาวๆ ปกคลุมกาบใบและแผ่นหลังใบ ชอบขึ้นในที่ริมน้ำ เช่น หนองน้ำ คูร่องสวน เป็นหญ้ากลุ่มเดียวกับหญ้ามอริชัส แต่หญ้ามอริชัสขึ้นในที่ดอนได้ดีกว่า มีขนปกคลุมมากกว่า โคกระบือชอบกิน ใช้เลี้ยงไก่และสุกรได้ด้วย โดยให้กินเสริมกับอาหารข้น ไม่ทนต่อการเหยียบย่ำของโค มีคุณค่าอาหารคิดเป็นร้อยละดังนี้ มีความชื้น ๑๐.๐ โปรตีน ๙.๕ ไขมัน ๓.๔ กาก ๒๗.๙ แป้ง ๓๖.๖ และแร่ธาตุ ๑๓.๐
๘. หญ้าข้าวนก (Echinochloa colonum) บางแห่งเรียกว่า หญ้านกสีชมพู ลำต้นและช่อดอกสีม่วงดำ เป็นหญ้าฤดูเดียว ต้นเตี้ยสูงไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร ลำต้นอวบน้ำ ชอบขึ้นในที่ที่มีน้ำขัง ทุ่งนา โคกระบือชอบกิน มีคุณค่าอาหารคิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๗.๔ โปรตีน ๙.๘ ไขมัน ๒.๔ กาก ๒๓.๓ แป้ง ๔๒.๓ และแร่ธาตุ ๑๔.๘
๙. หญ้าชัดกาด (Panicum repense) เป็นหญ้าอายุหลายปี ต้นเตี้ยประมาณ ๔๐ เซนติเมตร ลำต้นอวบน้ำ มีใบน้อยและใบสั้น มีเหง้าเป็นส่วนแพร่พันธุ์ ขึ้นได้ในดินร่วนปนทราย ในที่ดอนและในที่ลุ่มน้ำขัง ทนต่อสภาพดินเปรี้ยว โคกระบือชอบกิน ทนต่อการแทะเล็มเหยียบย่ำ พบทั่วทุกภาค ที่พบเป็นทุ่งใหญ่อยู่ในบริเวณดินพรุจังหวัดนราธิวาส มีคุณค่าอาหารคิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๙.๑ โปรตีน ๕.๗ ไขมัน ๑.๖ กาก ๒๗.๓ แป้ง ๕๐.๑ และแร่ธาตุ ๕.๘
๑๐. หญ้าข้าวผี (Oryza rufipogon) เป็นพืชในกลุ่มข้าว แต่ที่เมล็ดข้าวเปลือกมีเสี้ยนโผล่ยาวมาก เป็นหญ้าฤดูเดียว ชอบขึ้นในที่ที่มีน้ำขัง ต้นเล็กกว่าต้นข้าว โคกระบือชอบกิน มีคุณค่าอาหารคิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๔.๑ โปรตีน ๙.๑ ไขมัน ๑.๕ กาก ๓๒.๖ แป้ง ๔๐.๕ แร่ธาตุ ๑๒.๐ และค่าอินทรียวัตถุย่อยได้ ๕๕.๔
๑๑. หญ้าปล้อง (Hymenachne myuros) เป็นหญ้าอายุหลายปี ชอบขึ้นในที่มีน้ำขังลำต้นกลวง แผ่เถาตามผิวน้ำ อวบน้ำ ใบเกลี้ยงยาว ๕-๘ เซนติเมตร กว้าง ๑-๑.๒ เซนติเมตร พบขึ้นทั่วทุกภาค พบเป็นทุ่งใหญ่ในบริเวณดินพรุ ทุ่งมูโนะ จังหวัดนราธิวาส โคกระบือชอบกินมีคุณค่าอาหารคิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๕.๐ โปรตีน ๗.๗ ไขมัน ๑.๒ กาก ๓๓.๖ แป้ง ๔๔.๘ แร่ธาตุ ๗.๔ และค่าอินทรียวัตถุที่ย่อยได้ ๕๒.๕ ชาวบ้านใช้ทุ่งมูโนะนี้เป็นที่เลี้ยงโคกระบือ
๑๒. หญ้าหวาย (Ischaemum aristatum) เป็นหญ้าอายุหลายปี ชอบขึ้นในที่มีน้ำ ทุ่งนาริมหนองบึง แหล่งดินเปรี้ยว เป็นหญ้ากอเตี้ย สูง ๔๐-๕๐ เซนติเมตร ใบเล็กยาวประมาณ ๖-๘ เซนติเมตร กว้าง ๑-๑.๕ เซนติเมตร ช่อดอกเป็นแฉก ๒ แฉก แต่มักแนบติดกันทำให้ดูเป็นเพียงแฉกเดียว ปลายเมล็ดมีเสี้ยนโผล่ยาวคล้ายขนแข็งๆ กระบือชอบกินมากกว่าโค ในหญ้าที่มีดอก มีคุณค่าอาหารคิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๘.๑ โปรตีน ๓.๔ ไขมัน ๑.๘ กาก ๓๒.๕ และแร่ธาตุ ๙.๕
๑๓. หญ้าข่มคา (Microstegium ciliatum) เป็นหญ้าอายุหลายปี ชอบขึ้นในที่ร่มตามสวนไม้ผล สวนยางพารา ในที่ที่มีฝนตกชุก พบมากทางภาคใต้ ลำต้นเล็ก สูงไม่เกิน ๙๐ เซนติเมตร เป็นเถาคลุมพืชต้นเตี้ยอื่นๆ เช่น หญ้าคา ชาวบ้านจึงเรียกว่า "หญ้าข่มคา" ใบยาวประมาณ ๖-๘ เซนติเมตร บริเวณฐานใบกว้างประมาณ ๔ เซนติเมตร ลักษณะใบคล้ายใบไผ่ ช่อดอกมีลักษณะเป็นแฉก โคกระบือชอบกิน ไม่ทนต่อการเหยียบย่ำแทะเล็ม มีคุณค่าอาหารคิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๑๐.๔ โปรตีน ๗.๗ กาก ๒๕.๔ ไขมัน ๑.๑ แป้ง ๔๗.๐ และแร่ธาตุ ๘.๓
๑๔. หญ้าเห็บ (Paspalum conjugatum) เป็นหญ้าอายุหลายปี ต้นเตี้ยเป็นเถาเลื้อยคลุมดิน ต้นสูงไม่เกิน ๓๕ เซนติเมตร ชอบขึ้นในที่ร่มตามสวนไม้ผลเช่นเดียวกับหญ้าข่มคา ช่อดอกมีสองแฉก โคกระบือชอบกิน มีคุณค่าอาหารคิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๙.๙ โปรตีน ๗.๒ ไขมัน ๑.๕ กาก ๒๔.๓ แป้ง ๔๗.๖ และ แร่ธาตุ ๙.๒
๑๕. หญ้าใบมัน (Axonopus compressus) บางทีเรียกว่า หญ้ามาเลเซีย ในสภาพธรรมชาติ ชอบขึ้นในที่ร่มเงาตามสวนไม้ผลและป่าไม้โปร่งที่มีฝนตกชุก เป็นหญ้าประเภทอายุหลายปี ต้นเตี้ยชิดดิน ใบยาวประมาณ ๘-๑๐ เซนติเมตร กว้าง ๑-๑.๕ เซนติเมตร ทนแดดดีกว่าหญ้าข่มคาและหญ้าเห็บ เป็นหญ้าพันธุ์หนึ่งที่ใช้ปลูกทำสนามหญ้าได้ดี โคกระบือไม่ชอบกินเท่าหญ้าข่มคามีคุณค่าอาหารคิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๑๐.๖ โปรตีน ๖.๘ ไขมัน ๑.๐ กาก ๒๔.๓ แป้ง ๔๗.๘ แร่ธาตุ ๙.๒
๑๖. ถั่วลิสงนา (Alysicarpus Vaginalis) เป็นถั่วอายุฤดูเดียว พุ่มเตี้ย ต้นสูงไม่เกิน ๕๐ เซนติเมตร ใบมน โคนใบแคบกว่าส่วนปลายใบยาว ๒-๓ เซนติเมตร กว้างสุด ๑.๕-๒ เซนติเมตร พบขึ้นในทุกภาคของประเทศ เจริญดีในดินร่วนปนทราย โคกระบือชอบกิน มีคุณค่าอาหารคิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๘.๘ โปรตีน ๑๕.๕ ไขมัน ๒.๔ กาก ๒๗.๑ แป้ง ๓๕.๑ และแร่ธาตุ ๑๑.๐
๑๗. กระถินพื้นเมือง (Leucaena leucocephala) เป็นไม้ยืนต้นในวงศ์ถั่ว สูง ๒.๕-๔ เมตร แตกกิ่งก้านมากกว่ากระถินยักษ์ ใบเป็นแบบใบรวม แผ่นใบเป็นแผ่นเล็กๆ ยาว ๑-๑.๒ เซนติเมตร กว้าง ๐.๔-๐.๕ เซนติเมตร ช่อดอกเป็นกระจุกคล้ายเม็ดกระดุม ใบเป็นแหล่งอาหารโปรตีน วิตามิน ใช้เลี้ยงสัตว์ได้ทุกชนิด โดยใช้ใบสดหรือใบกระถินป่น ในอาหารไก่ และสุกร ใช้ประมาณร้อยละ ๕ ของส่วนผสมทั้งหมด โดยใช้ใบกระถินแห้งหรือกระถินป่น ส่วนโคให้กินได้มากถึงร้อยละ ๔๐-๕๐ โดยใช้ใบแห้งหรือใบสดก็ได้ การใช้ประโยชน์มีข้อจำกัด ทั้งนี้เพราะว่ามีสารพิษ "มิมโมซีน" ถ้าสัตว์กินมากจะทำให้ขนร่วง ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ โดยเฉลี่ยมีสารมิมโมซีนประมาณ ๓๓.๕ มิลลิกรัมต่อ ๑๐๐ กรัม ซึ่งอยู่ในเกณฑ์สูง อย่างไรก็ตาม ถ้าใช้เลี้ยงสัตว์โดยระมัดระวัง กล่าวคือ ให้กินในปริมาณที่กล่าวข้างต้นจะให้ประโยชน์มาก เป็นพืชอาหารสัตว์สุขภาพดีพันธุ์หนึ่ง มีโปรตีนสูงมาก ใช้เป็นอาหารเสริมโปรตีนในโคกระบือ ในกรณีที่โคกระบือได้รับอาหารเสริมโปรตีนคุณภาพต่ำ เช่น ฟางข้าว ยอดอ้อย คุณค่าอาหารของกระถินพื้นเมือง คิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๑๐.๐ โปรตีน ๒๓.๕ ไขมัน ๗.๗ กาก ๗.๗ แป้ง ๕๑.๓ และแร่ธาตุ ๙.๗ สำหรับสารมิมโมซีนลดลงได้โดยการนำใบกระถินออกผึ่งแดด ๑-๒ วัน ในประเทศออสเตรเลียมีการวิจัยพบว่าในกระเพาะของโคที่เลี้ยง ในมลรัฐฮาวายของประเทศสหรัฐอเมริกา มีบัคเตรีบางชนิดสามารถทำลายสารดังกล่าวลดพิษของใบกระถินลงได้ ประเทศไทยผลิตใบกระถินป่นปีละประมาณ ๗๐,๐๐๐ ตัน แหล่งผลิตมากอยู่ในจังหวัดกาญจนบุรี นครปฐม สระบุรีและลพบุรี ปัจจุบันได้มีการนำเอาพันธุ์ต่างประเทศเข้ามาหลายพันธุ์ต้นโตเร็ว ใบดก เช่น พันธุ์ไอวอรีโคสต์ พันธุ์เอลซัลวาดอร์ ชาวบ้านเรียกว่า กระถินยักษ์ ใช้ปลูกเพื่อเอาไม้ทำเครื่องใช้ ใบใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ดี คุณค่าอาหารสัตว์ของกระถินยักษ์ พันธุ์ไอวอรีโคสต์จากท้องที่อำเภอปากช่อง คิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๑๐.๕ โปรตีน ๒๒.๙ ไขมัน ๘.๖ กาก ๗.๒ แป้ง ๔๐.๑ และแร่ธาตุ ๑๐.๕
๑๘. ถั่วคนทิดิน (Desmodium ovalifolium) เป็นถั่วประเภทเถาแผ่คลุมดิน พบมากในที่ร่มเงาแดดรำไร สวนยางพาราและริมป่าในภาคใต้ อายุหลายปี ลักษณะใบเป็นรูปไข่ ดอกเป็นช่อคล้ายก้านกรวย ขนาดยาว ๘-๑๐ เซนติเมตร ส่วนฐานกรวยกว้างประมาณ ๓ เซนติเมตร กลีบดอกสีม่วง โคไม่ชอบกินเท่าถั่วลาย ติดเมล็ดน้อยใช้ปลูกปนหญ้าทำทุ่งปล่อยโคแทะเล็ม โดยปลูกปนกับหญ้ากินนี หรือหญ้ามอริชัส คุณค่าอาหารจากตัวอย่างพืชที่จังหวัดนราธิวาสคิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๘.๕ โปรตีน ๑๓.๔ ไขมัน ๒.๙ กาก ๒๗.๑ แป้ง ๓๙.๖ และแร่ธาตุ ๘.๓
 

พืชอาหารสัตว์ในวงหญ้ามีอะไรบ้าง
 
๑. หญ้ามอริชัส (Brachiaria mutica) เป็นหญ้าในสกุลเดียวกันกับหญ้าขน แต่งอกงามในที่ดอนได้ดีกว่าหญ้าขน มีขนมากกว่าและต้นอวบน้ำ และโตกว่าหญ้าขน มีแหล่งเดิมในเขตร้อน ทวีปแอฟริกา แต่เรานำเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ เป็นหญ้าอายุหลายปี กอสูงถึง ๕๐-๖๐ เซนติเมตร ลำต้นกลวง ใบดก สัตว์ชอบกิน ขึ้นได้ดีในที่ดอน ฝนชุกและดินอุดม มีข้อเสียที่ไม่ติดเมล็ด การขยายพันธุ์จึงต้องใช้เถาปลูก ใช้ปลูกเพื่อทำทุ่งหญ้าสำหรับโคแทะเล็ม หรือเพื่อตัดให้กินหรือตัดทำหญ้าหมัก ไม่ทนต่อการแทะเล็มเหยียบย่ำ คุณค่าอาหารจากตัวอย่างหญ้าที่จังหวัดชุมพรคิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๙.๙ โปรตีน ๑๐.๒ ไขมัน ๒.๑ กาก ๒๑.๘ แป้ง ๔๕.๔ และแร่ธาตุ ๑๐.๔ การปลูกใช้ลำต้นโดยตัดให้ติดข้อ ๓-๔ ข้อ แล้วปักชำหลุมละ ๒-๓ ท่อน ห่างกันหลุมละ ๔๐ เซนติเมตร หลังจากงอก ๘๐-๙๐ วัน ตัดหรือปล่อยโคแทะเล็มได้ หลังจากนั้นควรตัดทุกๆ ๔๐-๔๕ วัน ควรปลูกปนกับถั่วลาย โดยใช้ถั่วลาย ๒ กิโลกรัมต่อไร่ ใส่ปุ๋ยบำรุงตามลักษณะความอุดมของดิน
๒. หญ้ารูซี หรือ หญ้าคองโก (Brachiaria ruziziensis) เป็นหญ้าอายุหลายปี กอสูง ๕๐-๖๐ เซนติเมตร ลักษณะใบคล้ายใบหญ้ามอริชัส ลำต้นเล็กกว่าและตัน ช่อดอกเป็นแฉกเรียงกัน ๒ แถว แหล่งดั้งเดิมพบในทวีปแอฟริกา เขตร้อนแถบประเทศคองโก เรานำเข้ามาจากประเทศออสเตรเลีย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๑ ปลูกครั้งแรกที่สถานีพืชอาหารสัตว์ปากช่อง อำเภอปากช่อง ติดเมล็ดดีมาก ติดเมล็ดปีละครั้งในช่วงเดือนตุลาคม โตเร็ว โคกระบือชอบกิน ขึ้นได้ดีในที่ดอน ใช้ปลูกทำทุ่งหญ้าสำหรับโคกระบือแทะเล็มทนการเหยียบย่ำได้ดีกว่าหญ้ามอริชัส คุณค่าอาหารจากตัวอย่างหญ้าที่จังหวัดนราธิวาสคิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๘.๗ โปรตีน ๑๐.๘ ไขมัน ๒.๔ กาก ๒๓.๑ แป้ง ๔๙.๔ และแร่ธาตุ ๕.๓ ใช้เลี้ยงโคกระบือได้ดี แต่ไม่ควรใช้เลี้ยงแกะ เนื่องจากแกะแพ้สารบางอย่างที่มีในหญ้าชนิดนี้ ทำให้ตับพิการและตายได้ การปลูกใช้เมล็ดปลูก ๒ กิโลกรัมต่อไร่ หลังจากงอก ๗๐-๘๐ วัน ปล่อยโคแทะเล็มได้ ใน พ.ศ. ๒๕๓๒ กรมปศุสัตว์ผลิตเมล็ดได้ ๓๕๐ ตัน สำหรับแจกและจำหน่าย
๓. หญ้าซิกแนล (Brachiaria decumbens) เป็นหญ้าอายุหลายปี ลักษณะใบและต้นคล้ายๆ หญ้ารูซี แต่แตกกอแบบกึ่งตั้งกึ่งนอนสูงประมาณ ๔๐-๕๐ เซนติเมตร แหล่งเดิมอยู่ในทวีปแอฟริกา แต่เรานำเข้ามาจากฮ่องกง เมื่อพ.ศ. ๒๔๙๙ ขึ้นได้ดีในที่ดอน ปลูกทำทุ่งหญ้าเลี้ยงโคในสวนมะพร้าวได้ดี เหมาะสำหรับปลูกทำทุ่งปล่อยโคแทะเล็ม ทนต่อการเหยียบย่ำ โคกระบือชอบกิน ติดเมล็ดน้อยมาก การปลูกใช้เมล็ด ๒ กิโลกรัมต่อไร่ หรือใช้หน่อปักชำ โดยชำห่างกันหลุมละ ๔๐ เซนติเมตร ปลูกร่วมกับถั่วลายได้ดีกว่าถั่วอื่นๆ คุณค่าอาหารจากตัวอย่างหญ้าที่จังหวัดชุมพรคิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๑๐.๙ โปรตีน ๙.๗ ไขมัน ๑.๔ กาก ๒๒.๔ แป้ง ๔๕.๖ และแร่ธาตุ ๙.๘
๔. หญ้ากินนี (Panicum maximum) เป็นหญ้าอายุหลายปี แตกกอและใบเล็ก ยาวคล้ายกับกอตะไคร้ แต่ต้นสูงกว่ามาก สูง ๑-๑.๔ เมตร ช่อดอกบานใหญ่ ๑๔-๒๐ เซนติเมตร เมล็ดเล็กมาก ขนาดโตกว่าเข็มหมุดประมาณ ๑ เท่า แหล่งดั้งเดิมอยู่ในทวีปแอฟริกา เขตร้อน เรานำเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ พร้อมกับหญ้ามอริชัส โคกระบือชอบกิน ขึ้นได้ดีในที่ดอน ดินอุดมปานกลาง ทนร่มเงาได้ปานกลาง ควรปลูกทำทุ่งหญ้าเลี้ยงโคในสวนมะพร้าว ทนการแทะเล็มเหยียบย่ำ ควรปลูกปนกับถั่วลายหรือถั่วฮามาตา หรือถั่วเซอราโตร การปลูกอาจใช้หน่อหรือเมล็ด ถ้าใช้เมล็ดใช้ในอัตรา ๑.๕-๒ กิโลกรัมต่อไร่ คุณค่าอาหารจากตัวอย่างหญ้าที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมาคิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๙.๘ โปรตีน ๙.๕ ไขมัน ๑.๙ กาก ๒๕.๙ แป้ง ๔๑.๗ และแร่ธาตุ ๑๑.๐
๕. หญ้าเฮมิล (Panicum maximum var.Hamil) เป็นหญ้าในกลุ่มหญ้ากินนีอายุหลายปี ต้นโตสูงกว่าหญ้ากินนี สูงประมาณ ๑.๔-๑.๘ เมตร ใบและช่อดอกใหญ่กว่าหญ้ากินนี ช่อดอกยาว ๒๐-๒๕ เซนติเมตร ใบสีเขียวแก่กว่าใบหญ้ากินนี ติดเมล็ดได้ดีกว่า แหล่งดั้งเดิมอยู่ในทวีปแอฟริกาเขตร้อนเรานำเข้ามาจากออสเตรเลีย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐ โคกระบือชอบกิน ใช้ปลูกเป็นหญ้าสวนครัว หรือทำเป็นทุ่งหญ้าสำหรับปล่อยสัตว์แทะเล็ม ทนต่อการเหยียบย่ำน้อยกว่าหญ้ากินนี การปลูกใช้เมล็ดในอัตรา ๑.๕-๒ กิโลกรัมต่อไร่ หรือแยกหน่อปลูกก็ได้ คุณค่าอาหารจากตัวอย่างหญ้าที่จังหวัดหนองคายคิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๘.๖ โปรตีน ๕.๑ ไขมัน ๑.๗ กาก ๓๐.๖ แป้ง ๔๕.๗ และแร่ธาตุ ๘.๑
๖. หญ้ากรีนแพนิค (Panicum maximum var.trichoglumes) เป็นหญ้าอายุหลายปี ต้นเตี้ยกว่าหญ้ากินนี ใบและต้นเล็ก กอสูงประมาณ ๗๐ เซนติเมตร ใบมีขนปกคลุมมากกว่าหญ้ากินนี ขนนุ่ม แหล่งดั้งเดิมอยู่ในทวีปแอฟริกาเขตร้อน เรานำเข้ามาจากประเทศออสเตรเลีย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ โคกระบือชอบกินใช้ปลูกทำทุ่งปล่อยโคแทะเล็ม ขึ้นในร่มเงาในสวนไม้ผลได้ดี ติดเมล็ดดีมาก ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดหรือหน่อ การปลูกใช้เมล็ดในอัตรา ๑.๕-๒ กิโลกรัมต่อไร่ หรือแยกหน่อปลูก คุณค่าอาหารจากตัวอย่างหญ้าที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา คิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๑๐.๒ โปรตีน ๖.๘ ไขมัน ๑.๙ กาก ๓๐.๙ แป้ง ๔๐.๑ และแร่ธาตุ ๙.๘
นอกจากนั้น หญ้าในกลุ่มหญ้ากินนี มีหญ้ากินนีสีม่วง หญ้าแกตตันแพนิค ซึ่งใช้ทำทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ได้ดี และโคชอบกิน
๗. หญ้าเนเปียร์ (Pennisetum purpureum) เป็นหญ้าอายุหลายปี กอสูงคล้ายอ้อย สูงประมาณ ๑.๖-๑.๙ เมตร ช่อดอกสีน้ำตาลเหลือง เป็นรูปทรงกระบอกคล้ายหางกระรอกมีแหล่งดั้งเดิมอยู่ในทวีปแอฟริกาเขตร้อน เรานำเข้ามาจากมาเลเซียเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ หญ้าชนิดนี้ชอบที่ดอน โคกระบือชอบกิน ใช้ปลูกทำทุ่ง สำหรับตัดเลี้ยงสัตว์ ไม่ทนต่อการเหยียบย่ำ ไม่ติดเมล็ด ดังนั้นการปลูก จึงใช้วิธีตัดลำต้นชำ ชำห่างกันหลุมละ ๕๐ เซนติเมตร ตัดเลี้ยงโคได้หลังจากงอกประมาณ ๗๐-๘๐ วัน หลังจากนั้นตัดได้ทุก ๔๐-๔๕ วัน ใช้ทำหญ้าหมักได้ดี คุณค่าอาหารจากตัวอย่างหญ้าในท้องที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา คิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๙.๗ โปรตีน ๑๑.๓ ไขมัน ๒.๓ กาก ๒๑.๖ แป้ง ๔๑.๑ และแร่ธาตุ ๑๓.๘
๘. หญ้าบัฟเฟิล (Cenchrus ciliaris) เป็นหญ้าอายุหลายปี กอเตี้ย สูงประมาณ ๖๐ เซนติเมตร มีแหล่งกำเนิดในทวีปแอฟริกา เรานำเข้ามาจากประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘ ใบเล็กเรียว กว้างประมาณ ๔ มิลลิเมตร ยาว ๘-๑๐ เซนติเมตร ช่อดอกคล้ายหางกระรอก ยาวประมาณ ๖ เซนติเมตร ทนแล้งและการเหยียบย่ำ ใช้ปลูกทำทุ่งหญ้าปล่อยโคแทะเล็มขึ้นได้ดีในดินร่วนปนทราย ที่ดอน ทนแล้งพอใช้ได้ติดเมล็ดดีมาก การปลูกใช้เมล็ด หรือหน่อ คุณค่าอาหารจากตัวอย่างหญ้าในท้องที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา คิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๙.๗ โปรตีน ๑๑.๑ ไขมัน ๑.๖ กาก ๒๓.๙ แป้ง ๔๐.๘ และแร่ธาตุ ๑๒.๕ พันธุ์ต่างๆที่ขึ้นได้ดีมีพันธุ์โมโลโป พันธุ์ไบโลเอลลา
๙. หญ้าโรด (Chloris gayana) เป็นหญ้าอายุหลายปี แหล่งดั้งเดิมอยู่ในทวีปแอฟริกาเขตร้อน เรานำเข้ามาครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ เป็นหญ้ากอสูง ประมาณ ๖๐ เซนติเมตร ช่อดอกแตกเป็นแฉกหลายแฉก คล้ายตีนนก ขึ้นได้ดีในที่ดอน ติดเมล็ดดีมาก ใช้ปลูกทำทุ่งสำหรับโคแทะเล็ม หรือตัดทำหญ้าแห้ง ใช้เมล็ดปลูกในอัตรา ๑-๑.๕ กิโลกรัมต่อไร่ คุณค่าอาหารจากตัวอย่างหญ้าที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา คิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๑๐.๔ โปรตีน ๗.๓ ไขมัน ๑.๘ กาก ๒๘.๙ แป้ง ๔๒.๑ และแร่ธาตุ ๙.๕
๑๐. หญ้าซอกัม (Sorghum almum) เป็นหญ้าอายุสองปี แหล่งดั้งเดิมอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ เรานำเข้ามาจากสหรัฐอเมริกาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓ เป็นหญ้ากอสูง ต้นสูงประมาณ ๑.๖ เมตร ลักษณะใบคล้ายต้นอ้อ ช่อดอกบานทรงพีระมิด ยาวประมาณ ๒๕ เซนติเมตร ชอบที่ดอน ดินอุดม ติดเมล็ดดีมาก โคชอบกิน แต่มีสารพิษไฮโดรไซยานิก เป็นอันตรายกับโคกระบือ ไม่ควรให้โคกระบือกินเมื่อต้นยังอ่อนๆ ควรให้กินหลังช่อดอกโผล่จากยอดใหม่ๆ ไม่ทนต่อการแทะเล็ม ควรตัดให้กิน การปลูกใช้เมล็ดในอัตรา ๒.๕-๓ กิโลกรัมต่อไร่ หญ้าในกลุ่มนี้มีหญ้าลูกผสมหลายพันธุ์ เช่น หญ้าจัมโบ สปีดฟีด มีคุณค่าอาหารสูง โคชอบกิน เลี้ยงโคนมได้ดี คุณค่าอาหารจากตัวอย่างหญ้าตัดก่อนมีดอกในท้องที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา คิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๙.๔ โปรตีน ๑๕.๑ ไขมัน ๔.๐ กาก ๒๒.๘ แป้ง ๔๐.๒ และแร่ธาตุ ๘.๓
นอกจากนั้นยังมีหญ้าในกลุ่มซอกัมอื่นๆ อีกหลายชนิด เช่น หญ้าซูกาคริบ จัมโบ และสปีดฟีด ซึ่งเป็นหญ้าลูกผสม เป็นหญ้าคุณภาพดี แต่อายุสั้น ๑-๒ ปี
๑๑. หญ้าเซตาเรีย (Setaria anceps) บางทีเรียกว่า หญ้าเซาท์แอฟริกัน เป็นหญ้าอายุหลายปี กอสูง ๑.๒-๑.๔ เมตร โคนต้นแบนใบเกลี้ยง ยาวเรียว ยาว ๑๓-๑๖ เซนติเมตร กว้าง ๑.๐-๑.๒ เซนติเมตร มีแหล่งดั้งเดิมในทวีปแอฟริกาเขตร้อน นำเข้ามาจากไต้หวันเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓ ขึ้นได้ดีในที่ดอน โคชอบกิน เหมาะสำหรับใช้ทำทุ่งปล่อยสัตว์แทะเล็ม ติดเมล็ดดี ปลูกโดยเมล็ดหรือแยกหน่อชำ ใช้เมล็ดในอัตรา ๒-๒.๕ กิโลกรัมต่อไร่ คุณค่าอาหารจากตัวอย่างหญ้าในท้องที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา คิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๙.๔ โปรตีน ๑๑.๕ ไขมัน ๒.๘ กาก ๒๒.๑ แป้ง ๔๓.๓ และแร่ธาตุ ๑๐.๕
๑๒. หญ้ากัวเตมาลา (Tripsacum laxum) เป็นหญ้าประเภทอายุหลายปี กอใหญ่ ใบดก ใบแตกชิดดิน ไม่มีลำต้นเด่นชัด ใบยาวใหญ่เท่าใบข้าวโพด มีแหล่งดั้งเดิมอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ เรานำเข้ามาจากสหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖ โคกระบือชอบกิน เหมาะสำหรับปลูกเพื่อตัดเลี้ยงสัตว์ไม่ทนต่อการแทะเล็มเหยียบย่ำ ขึ้นได้ดีในที่ดอน เชิงเขา แต่ปรับตัวกับที่ลุ่มได้พอสมควรไม่ติดเมล็ด ขยายพันธุ์โดยหน่อ ปลูกชำห่างกันหลุมละ ๖๐-๗๐ เซนติเมตร คุณค่าอาหารจากตัวอย่างหญ้าในจังหวัดชุมพร คิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๑๐.๕ โปรตีน ๗.๑ ไขมัน ๑.๔ กาก ๒๖.๐ แป้ง ๔๘.๐ และแร่ธาตุ ๖.๗
๑๓. หญ้าปลิแคตูลัม (Paspalum plicatulum) เป็นหญ้าประเภทอายุหลายปี แตกกอคล้ายกอตะไคร้ แต่ต้นเตี้ยกว่า ใบตั้งตรง เล็กกว่าใบตะไคร้ ช่อดอกมีกิ่งย่อยเรียงเป็น ๒ แฉกมีแหล่งดั้งเดิมในทวีปอเมริกาใต้ เรานำเข้ามาจากประเทศออสเตรเลีย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗ ขึ้นได้ดีทั้งในที่ดอนและที่ลุ่ม ติดเมล็ดดีมาก แต่โคชอบกินน้อยกว่าหญ้าอื่น คุณค่าอาหารจากตัวอย่างหญ้าในอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา คิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๙.๒ โปรตีน ๗.๗ ไขมัน ๑.๖ กาก ๒๖.๑ แป้ง ๔๗.๘ และแร่ธาตุ ๗.๓
๑๔. หญ้าแพนโกลา (Digitaria decumbens) เป็นหญ้าอายุหลายปี มีเถาเลื้อยคลุมดิน ต้นสูงประมาณ ๓๕ เซนติเมตร ใบดก ยาว ๑๒-๑๖ เซนติเมตร กว้าง ๐.๔-๐.๕ มิลลิเมตร แตกรากตามข้อทำให้แพร่คลุมดินอย่างหนาแน่นเหมาะสำหรับปลูกทำทุ่งปล่อยสัตว์แทะเล็ม และอนุรักษ์ดินหรือตัดทำหญ้าแห้ง โคชอบกิน ไม่ติดเมล็ด ใช้เถาขยายพันธุ์ โดยปลูกห่างกันหลุมละ ๓๐-๔๐ เซนติเมตร ชอบขึ้นในที่ดอน ดินอุดมมีแหล่งดั้งเดิมในทวีปอเมริกาใต้ เรานำเข้าประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖ คุณค่าอาหารจากตัวอย่างหญ้าในจังหวัดมหาสารคาม คิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๙.๒ โปรตีน ๕.๖ ไขมัน ๒.๒ กาก ๒๖.๕ แป้ง ๔๘.๐ และแร่ธาตุ ๘.๑
นอกจากนั้นยังได้นำพันธุ์หญ้าพันธุ์ใหม่ๆ ซึ่งได้รับการผสมและปรับปรุงพันธุ์ให้มีคุณภาพดีเข้ามาทุกปี เพื่อใช้กับโคนม เช่น หญ้าไข่มุก (Pennisetum americanum) จากสหรัฐอเมริกาเป็นหญ้ากอสูงใบใหญ่ คุณค่าอาหารสูง อายุปีเดียวหญ้าจัมโบ เป็นหญ้าลูกผสมในกลุ่มหญ้าซอกัมนำเข้ามาจากออสเตรเลีย ต้นสูงคล้ายข้าวฟ่าง แต่ใบและต้นเล็กกว่า และอายุเพียง ๒ ปี แต่ทั้ง ๒ ชนิด ติดเมล็ดดีมาก ปลูกง่าย มีข้อเสียที่ต้องปลูกซ้ำทุกปี
 
พืชในวงศ์ถั่วมีอะไรบ้าง
 
๑. ถั่วลาย (Centrosema pubescens) เป็นถั่วประเภทเลื้อย อายุหลายปี มีแหล่งดั้งเดิมอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ เรานำเข้ามาใช้ปลูกคลุมดินในสวนยางไม่ต่ำกว่า ๕๐ ปีมาแล้ว ใบเป็นแบบใบรวม มี ๓ ใบย่อย เถาเลื้อยคลุมดินหรือพันต้นพืชอื่นแบบเถาวัลย์ กลีบดอกสีม่วงเป็นช่อ ช่อละ ๔-๘ ดอก ชอบขึ้นในแหล่งฝนตกชุก เช่น ภาคใต้ แต่ปรับตัวได้กับสภาพฝนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทนร่มเงา จึงใช้ปลูกทำทุ่งหญ้าในสวนไม้ผล และสวนมะพร้าวได้ดี ใช้ปลูกปนกับหญ้าต่างๆ ได้หลายชนิด การปลูกใช้เมล็ดในอัตรา ๒ กิโลกรัมต่อไร่ และควรใช้เชื้อไรโซเลียมคลุกเมล็ดก่อนปลูก เชื้อดังกล่าวช่วยในการตรึงธาตุไนโตรเจน ทำให้ถั่วงอกงามกรมวิชาการเกษตรผลิตเชื้อไรโซเลียมจำหน่ายแก่เกษตรกร คุณค่าอาหารของถั่วลายจากตัวอย่างในจังหวัดสตูลคิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๘.๙ โปรตีน ๑๔.๑ ไขมัน ๒.๐ กาก ๓๐.๓ แป้ง ๓๗.๘ และแร่ธาตุ ๖.๗
๒. ถั่วฮามาตา (Stylosanthes hamata) บางแห่งเรียกว่า ถั่วเวอราโน อายุ ๑-๒ ปี เป็นถั่วพุ่มเตี้ย สูงประมาณ ๓๐-๔๐ เซนติเมตร ใบเป็นแบบใบรวม มีใบย่อย ๓ ใบ ขนาดของใบย่อยยาว ๒.๕-๓ เซนติเมตร กว้าง ๐.๔-๐.๕ เซนติเมตร ดอกรวมเป็นกระจุกสีเหลือง เมล็ดมีส่วนยื่นโผล่แบบตะขอ มีแหล่งดั้งเดิมในทวีปอเมริกากลาง เรานำเข้ามาจากประเทศออสเตรเลีย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๔ โคกระบือชอบกิน ชอบขึ้นในที่ดอน ดินร่วนปนทราย ทนการแทะเล็มเหยียบย่ำ ติดเมล็ดดีมาก เหมาะกับสภาพดินในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกเขตดินเค็ม ปัจจุบันใช้ถั่วชนิดนี้หว่านทางอากาศเพื่อปรับปรุงทำเลเลี้ยงสัตว์สาธารณะ การปลูกใช้เมล็ดในอัตรา ๒ กิโลกรัมต่อไร่ ก่อนปลูกควรใช้น้ำร้อนแช่เมล็ด โดยใช้น้ำร้อน ๘๐ องศาเซลเซียส แช่นาน ๕-๘ นาที จะช่วยให้เมล็ดงอกเร็วขึ้น คุณค่าอาหารจากถั่วที่ได้จากท้องที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา คิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๑๐.๔ โปรตีน ๑๔.๖ ไขมัน ๒.๑ กาก ๒๖.๖ แป้ง ๓๗.๗ และแร่ธาตุ ๘.๔
๓. ถั่วสไตโล (Stylosanthes guianensis) มีพันธุ์ต่างๆ คือ พันธุ์สโคฟิล พันธุ์เอนเดเวอร์ และพันธุ์เกรแฮมหรือแกรม เป็นถั่วอายุหลายปี พุ่มเตี้ย สูงประมาณ ๕๐-๖๐ เซนติเมตร ใบเป็นแบบรวม มีใบย่อย ๓ ใบ ขนาดยาว ๒.๕-๓.๕ เซนติเมตร กว้าง ๐.๖-๐.๙ เซนติเมตร ดอกรวมเป็นกระจุกสีเหลือง ไม่มีส่วนยื่นเป็นตะขอเหมือนกับของเมล็ดถั่วฮามาตา มีแหล่งดั้งเดิมอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ แถบทะเลแคริบเบียน เรานำเข้ามาจากฮ่องกง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๒ ส่วนพันธุ์แกรมนำเข้ามาจากออสเตรเลีย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙ ขึ้นได้ดีในที่ดอน ดินร่วนปนทราย เหมาะสำหรับท้องที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โคชอบกินน้อยกว่าถั่วลายและถั่วฮามาตา แต่ในช่วงปลายฝนหญ้าสดขาดแคลน โคชอบกินเช่นกัน ติดเมล็ดได้ดีใช้เมล็ดปลูกในอัตรา ๑.๕ กิโลกรัมต่อไร่ ปลูกปนกับหญ้ากินนีและหญ้าซิกแนล คุณค่าอาหารจากตัวอย่างหญ้าที่จังหวัดนราธิวาส คิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๘.๔ โปรตีน ๑๖.๘ ไขมัน ๓.๗ กาก ๑๙.๘ แป้ง ๓๕.๓ และแร่ธาตุ ๑๕.๘ สำหรับถั่วสไตโลพันธุ์แกรมหรือเกรแฮม ใช้ทำหญ้าแห้งได้ดี ลำต้นอ่อนกว่าสไตโลพันธุ์อื่นๆ โคชอบกินติดเมล็ดดีมาก เหมาะสำหรับดินร่วนปนทรายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
๔. ถั่วแล็บแล็บ (Lablab purpureus) บางทีเรียกว่าถั่วแปบ อายุ ๑-๒ ปี มีเถาแต่ไม่เลื้อยพันแบบเถาวัลย์ ใบเป็นแบบใบรวมมีใบย่อย ๓ ใบ ขนาดใหญ่ กว้างประมาณ ๕ เซนติเมตร ยาว ๗-๘ เซนติเมตร ดอกสีขาวเป็นช่อยาว ๑๐-๑๕ เซนติเมตร ชอบดินดอน โคชอบกินน้อยกว่าถั่วลาย ถ้าให้โคกินใบสดมากเกินไป อาจทำให้ท้องอืดถึงตายได้ ควรให้กินวันละ ๓-๔ กิโลกรัม ติดเมล็ดได้ดี ปลูกด้วยเมล็ดงอกเร็วและโตเร็ว ควรใช้ทำหญ้าแห้งเพื่อลดพิษที่ทำให้ท้องอืด คุณค่าอาหารจากตัวอย่างพืชจากอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา คิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๑๑.๗ โปรตีน ๑๘.๐ ไขมัน ๓.๑ กาก ๒๓.๔ แป้ง ๓๓.๙ และแร่ธาตุ ๙.๖
 

พืชในกลุ่มไม้ยืนต้น
๑. ต้นแค (Sesbania grandiflora) เป็นพืชในวงศ์ถั่ว พบอยู่ทั่วๆ ไป เราใช้ดอกเป็นอาหารของมนุษย์ เช่น ใช้แกงส้ม ส่วนใบมีคุณค่าอาหารสูง ใช้เลี้ยงโคกระบือได้ดี โคชอบกิน ให้กินเป็นอาหารเสริมโปรตีนร่วมกับฟางข้าว และหญ้าแห้ง คุณค่าอาหารของใบรวมกับก้าน คิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๙.๗ โปรตีน ๒๗.๘ ไขมัน ๒.๗ กาก ๙.๒ แป้ง ๔๒.๑ และแร่ ธาตุ ๘.๒
๒. ถั่วแระต้น (Cajanus cajan) เป็นถั่วชนิดหนึ่ง ต้นเป็นพุ่มสูง ๒.๕-๓ เมตร ใบดกและทนแล้ง เหมาะสำหรับตัดให้โคกระบือกินในช่วงแล้ง เป็นอาหารเสริมโปรตีนโดยให้กินร่วมกับฟางข้าวหรือหญ้าแห้ง ใบมีคุณค่าอาหารสูง คุณค่าอาหารจากตัวอย่างพืชที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา คิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๗.๕ โปรตีน ๒๓.๗ ไขมัน ๕.๑ กาก ๑๓.๙ แป้ง ๔๒.๔ และแร่ธาตุ ๗.๒
๓. ทองหลางป่า (Erythrina subumbrans) เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว ใบเป็นแบบใบรวม มีใบย่อย ๓ ใบ ใช้เป็นอาหารโคกระบือได้ดี ให้กินร่วมกับฟางข้าวหรือหญ้าแห้งหรือเศษพืชอื่น เป็นอาหารเสริมโปรตีนเป็นไม้โตเร็วชนิดหนึ่ง ปลูกง่ายโดยใช้กิ่งปักชำคุณค่าอาหารจากตัวอย่างพืชที่จังหวัดสตูล คิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๙.๙ โปรตีน ๑๓.๓ ไขมัน ๙.๔ กาก ๑๖.๓ แป้ง ๔๐.๓ และแร่ธาตุ ๑๑.๙
๔. แคฝรั่ง (Gliricidia sepium) เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว ใบเป็นแบบใบรวม มีใบย่อยมากกว่า ๗ ใบ ลักษณะใบรวมคล้ายๆ ใบมะยม แต่ขนาดของแผ่นใบโตกว่าประมาณหนึ่งเท่าตัว สีเขียวเข้มกว่า ใช้ใบเป็นอาหารโคกระบือเช่นเดียวกับใบทองหลางหรือกระถิน แต่โคชอบกินน้อยกว่าใบทองหลาง ขึ้นได้ดีในที่ดอน คุณค่าอาหารจากตัวอย่างพืชที่จังหวัดเชียงใหม่ คิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๑๓.๗ โปรตีน ๒๒.๙ ไขมัน ๕.๖ กาก ๑๔.๙ แป้ง ๓๑.๔ และแร่ธาตุ ๑๑.๔
๕. กระถินยักษ์ กระถินยักษ์นำเข้ามาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙ มีพันธุ์ไอวอรีโคสต์ และพันธุ์เอลซัลวาดอร์ ปลูกเพื่อเอาต้นเป็นไม้ใช้สอยส่วนใบใช้เป็นอาหารสัตว์ เช่นเดียวกับพันธุ์พื้นเมือง คุณค่าอาหารของกระถินยักษ์พันธุ์ไอวอรีโคสต์ คิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๑๐.๕ โปรตีน ๒๒.๙ ไขมัน ๘.๖ กาก ๗.๒ แป้ง ๔๐.๑ และแร่ธาตุ ๑๐.๕
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น